891 จำนวนผู้เข้าชม |
เหรียญกษาปณ์ไทย
เหรียญกษาปณ์เริ่มผลิตขึ้นใช้ในสยามครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยเมื่อแรกที่ทรงขึ้นครองราชย์นั้นไทยยังคงใช้เงินพดด้วงเป็นเงินตราหลัก แต่เนื่องจากพดด้วงเป็นเงินที่ผลิตด้วยแรงงานคน ปริมาณการผลิตเงินพดด้วงจึงไม่เพียงพอต่อการใช้สอย ต่อมาความต้องการในการใช้เงินพดด้วงยิ่งเพิ่มมากขึ้นหลังการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ โดยเริ่มจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2398 และติดตามมาด้วยการทำสนธิสัญญากับชาติอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส โปรตุเกส เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2400 ได้มีคณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร จึงได้รับของกำนัลเป็นเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กที่ใช้แรงงานคนและได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเหรียญชนิดแรงดันไอน้ำเข้ามา พระองค์จึงได้ทรงสร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า โรงกษาปณ์สิทธิการ
ในปี พ.ศ. 2403 มีการผลิตเหรียญแบนด้านหน้าเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ด้านหลังเป็นรูปพระแสงจักร จึงถือว่ามีการผลิตเหรียญกษาปณ์แบบสากลนิยมขึ้นเป็นครั้งแรกและใช้ควบคู่กับกับพดด้วง โดยในสมัยนี้มีมาตราราคาเป็น ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง และไพ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เริ่มมีการผลิตเหรียญที่มีพระพักตร์ด้านข้างของพระองค์โดยตราด้านหลังเป็นตราแผ่นดิน ใน พ.ศ. 2419 จึงเป็นครั้งแรกที่ได้มีการประทับพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ไทยลงบนเหรียญกษาปณ์และในเวลาหลายปีต่อมาได้ผลิตเหรียญที่ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชและช้างสามเศียรเพิ่มอีก ซึ่งตราพระสยามเทวาธิราชนี้ได้ใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2441 พระองค์ได้ทรงปรับปรุงมาตราเงินตราไทยเป็นหน่วยบาทและสตางค์ คือ 100 สตางค์เป็น 1 บาท แทนหน่วยชั่ง สลึง บาท เฟื้อง เมื่อผลิตเหรียญกษาปณ์ได้เพียงพอต่อความต้องการจึงมีการยกเลิกการใช้พดด้วงและหอยเบี้ยในปี พ.ศ. 2447 และมีการผลิตเหรียญกษาปณ์ใช้อย่างต่อเนื่องต่อมาจวบจนรัชกาลปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย